“ธนจิรา” นักปั้นแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์แถวหน้าของเมืองไทย กับโอกาสที่ซ่อนอยู่ในเวทีระดับภูมิภาค

20 กันยายน 2566

หากพูดถึงแบรนด์เครื่องประดับชื่อดังอย่าง Pandora และแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ที่ขึ้นชื่อเรื่องลายพิมพ์อันโดดเด่นอย่าง Marimekko คงปฏิเสธไม่ได้ว่าได้รับความนิยมอย่างมากและครองใจผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์เหล่านี้ในประเทศไทยคือ บริษัท ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TAN ซึ่ง TAN เป็นบริษัทที่ก่อตั้งโดยคนไทย ประกอบธุรกิจนำเข้า และค้าปลีกสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่น ชื่อดังระดับโลก ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยมีแบรนด์หลัก ๆ ดังนี้

  • Pandora แบรนด์เครื่องประดับชั้นนำจากประเทศเดนมาร์ก ที่ก่อตั้งมานานกว่า 41 ปี ซึ่งครองตำแหน่งแบรนด์เครื่องประดับระดับพรีเมียมในราคาที่จับต้องได้ (Affordable Premium Jewelry) อันดับ 1 ของโลก
  • Marimekko แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ที่โดดเด่นด้านลายพิมพ์รูปดอกอูนิกโกะสีสันสดใสจากประเทศฟินแลนด์ ที่ถือกำเนิดมานานกว่า 70 ปี
  • Cath Kidston แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์กลิ่นอายโมเดิร์นวินเทจจากประเทศอังกฤษ ที่มีไลน์สินค้าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย กระเป๋า สกินแคร์ สินค้าสำหรับเด็ก ไปจนถึงของใช้ภายในบ้าน

TAN ยังต่อยอดธุรกิจจากแบรนด์ภายใต้พอร์ตโฟลิโอ สู่ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มออกมาเป็นร้าน Marimekko pop-up café และ Cath Kidston Tearoom เพื่อเชื่อมโยงการรับรู้แบรนด์ สร้างประสบการณ์ร่วมแบบใหม่ให้กับลูกค้าและยังถือเป็นการเพิ่มช่องทางรายได้ใหม่ๆ ให้อีกด้วย

นอกจากนี้ TAN ยังเป็นเจ้าของธุรกิจสุขภาพและความงามกลุ่ม HARNN (หาญ) ที่ประกอบไปด้วย 2 แบรนด์ใหญ่อย่าง HARNN แบรนด์สินค้าสำหรับดูแลผิวหน้า ผิวกาย ผลิตภัณฑ์สปา และอโรมาเทอราพีที่ผลิตจากธรรมชาติ และ Vuudh แบรนด์เครื่องหอมสไตล์ไทยร่วมสมัย ซึ่ง TAN ใช้กลยุทธ์พัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ ภายใต้ HARNN และ Vuudh อย่างสม่ำเสมอ โดยเปิดตัว Collection ใหม่ 2 ครั้งต่อปีเป็นอย่างต่ำและใส่เรื่องราวในการออกแบบหรือนำเสนอ (Story Telling) ผสานความลักซ์ชัวรี่เพื่อสร้างความแตกต่าง รวมถึงให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับผู้ซื้อ มากกว่าการแข่งขันด้านราคา ช่วยกระตุ้นความต้องการของลูกค้าและสร้างรายได้ให้ TAN เติบโตอย่างต่อเนื่อง

TAN ยังบุกตลาดต่างประเทศด้วยรูปแบบสาขาที่แตกต่างหลากหลาย อาทิ สาขาแบบช้อปอินช้อป (Shop in Shop) สาขาแบบคอนเซ็ปต์สโตร์ (Concept Store) และสาขาแบบแฟรนไชส์ (Franchise) ทั้งยังเลือกตั้งสาขาเฉพาะทำเลที่มีศักยภาพ ใกล้แหล่งชุมชน ผู้คนมีกำลังซื้อ เพื่อขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น ปัจจุบัน TAN ประสบความสำเร็จในการขยายกิจการสู่หลายประเทศ ได้แก่

  • Tanachira Vietnam จัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ Cath Kidston ในเมืองโฮจิมินห์และเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม
  • HARNN Japan จัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ HARNN และ Vuudh ณ ห้างสรรพสินค้าในเมืองโตเกียว โอซาก้า โกเบ เกียวโต และโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น
  • Tanachira SEA จัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ Marimekko และ HARNN ในประเทศสิงคโปร์

นอกจากนี้ TAN ยังขยายธุรกิจสปาภายใต้กลุ่มธุรกิจ HARNN Wellness & Hospitality ที่มุ่งเน้นธุรกิจแฟรนไชส์สปาในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยร่วมกับเครือโรงแรมระดับโลกรุกสู่ตลาด ฮ่องกง เวียดนาม ญี่ปุ่น และซาอุดิอาระเบียเพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตของแบรนด์ ซึ่งประกอบด้วยแบรนด์ย่อยทั้งหมด 4 แบรนด์ ดังนี้

  • HARNN Heritage Spa แบรนด์สปาระดับลักซ์ชัวรี่ (Luxury) นำเสนอบริการทรีตเมนต์สปารังสรรค์ด้วยความพิถีพิถัน
  • by HARNN แบรนด์สปาระดับลักซ์ชัวรี่และไลฟ์สไตล์ (Luxury & Lifestyle) นำเสนอบริการทรีตเมนต์สปาที่มีความหรูหรา โดดเด่น
  • The Spa by HARNN แบรนด์สปาระดับอัพเปอร์สเกลหรือบูทีค (Upper Upscale/Boutique) นำเสนอบริการทรีตเมนต์สปาแบบร่วมสมัย ผสานศาสตร์การนวดและวัฒนธรรมจากท้องถิ่น
  • SCape by HARNN แบรนด์สปาระดับพรีเมี่ยม (Premium) เสนอบริการสปาและซิกเนเจอร์ทรีตเมนต์ที่ออกแบบมาเพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่

และเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้า ที่นิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น TAN ได้หันมาจำหน่ายสินค้าแต่ละแบรนด์ผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งแพลตฟอร์มการซื้อขายออนไลน์ต่าง ๆ และโซเชียลมีเดีย โดยใช้กลยุทธ์การตลาดไลฟ์สตรีมมิงและอีคอมเมิร์ซ ทำให้ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่ง TAN ประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างการรับรู้แบรนด์ HARNN ในประเทศจีน ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ T-MALL สร้างสถิติยอดขายพุ่งสูงขึ้นกว่า 5 เท่าตัว จาก 10.0 ล้านบาทในปี 2563 เป็น 54.8 ล้านบาทในปี 2565

จากข้อมูลที่กล่าวมาทำให้เราทราบว่า TAN ให้ความสำคัญกับการขยายสาขา โดยใช้รูปแบบสาขาที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเปิดสาขาเอง ขายแฟรนไชส์ และแบบตัวแทนจำหน่าย บนโลเคชันที่วิเคราะห์มาอย่างดี ควบคู่ไปกับการจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์และโซเชียลมีเดียทั้งในและต่างประเทศ สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของ TAN ที่แบ่งเป็นกลุ่มลูกค้าองค์กร (B2B) เช่น โรงแรมที่มองหาแฟรนไชส์สปาระดับพรีเมียมไว้บริการผู้เข้าพักและกลุ่มลูกค้ารายย่อยประเภท YWN (Youth – Women – Netizens) ที่เป็นคนรุ่นใหม่ทั้งผู้หญิง วัยรุ่น และกลุ่มวัยทำงานผู้ชื่นชอบการใช้โซเชียลมีเดีย มีรายได้ปานกลางถึงสูง มีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอย ชอบสินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีคุณภาพ มีความเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงชอบซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์

ปัจจุบัน TAN ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filling) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อระดมทุนสำหรับขยายระบบนิเวศทางธุรกิจอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่การเป็นบริษัทไลฟ์สไตล์แฟชั่นชั้นนำในระดับภูมิภาคตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้

#TANACHIRA
#TANIPO